สตาร์ทอัพด้านเกษตร แหล่งเงินทุนเกษตรกร

Brennan Costello หัวหน้าฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง FarmAfield

สตาร์ทอัพมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกา ไลบีเรีย รวมทั้งไทย พวกเขาจึงต้องการสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกับเกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก ด้วยการเชื่อมโยงการเกษตรเข้ากับเทคโนโลยี นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

เกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เทคโนโลยีกำลังเคลื่อนไปข้างหน้า แต่จะทำอย่างไรให้เกษตรสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ สตาร์ทอัพจึงนำโมเดลธุรกิจใหม่เข้ามาพัฒนาธุรกิจเกษตรกรรม เกิดเป็นตัวช่วยด้านเงินทุนในแบบที่ไม่ต้องกู้ยืม ช่วยให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาได้รับโอกาสในการพัฒนาเกษตรกรรมของตนเองต่อไปได้

แพลตฟอร์มเชื่อมต่อเกษตรกรกับผู้บริโภคลงทุนและมีส่วนร่วมกับการผลิต
ปัจจุบันธุรกิจเกษตรกรรมมีการขยายตัวขึ้นและมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป มีการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น ต่างจากในอดีตที่การทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมจะปลูกพืชหลายชนิดปะปนกัน ขณะเดียวกันเกษตรกรหันไปพึ่งพาธุรกิจประกัน มีการตามล่าราคาผลผลิต และตกเป็นเบี้ยล่างของการตลาด และแนวโน้มเป็นเช่นนี้เหมือนกันทั้งโลก ประกอบกับปัญหาการขาดทักษะทางการตลาด ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในโลกธุรกิจและดิจิทัล ทำให้เกษตรกรตกอยู่ในสภาวะความกดดัน กับการพยายามต่อสู้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในการนำผลผลิตเข้าสู่ตลาด

แพลตฟอร์ม www.farmafield.com เชื่อมต่อระหว่างผู้บริโภคและเกษตรกร ยกตัวอย่าง การให้ผู้บริโภคเข้ามาลงทุนและเป็นเจ้าของวัวเนื้อร่วมกับเกษตรกร

แม้ว่าเกษตรกรรมในอเมริกา จะเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญและถือเป็นกระดูกสันหลังอย่างหนึ่ง ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกรวม 2,314 ล้านไร่ โดยในปีที่ผ่านมาทำรายได้ประมาณ 133 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กลับมีจำนวนเกษตรกรเพียง 2.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเท่านั้น และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

FarmAfield เป็นสตาร์ทอัพที่กำเนิดจากเมืองลินคอล์น มลรัฐเนบราสกา สหรัฐอเมริกา ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดย Brennan Costello หัวหน้าฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง FarmAfield เล่าว่า FramAfield มีแนวคิดสำคัญคือ การพัฒนาแพลตฟอร์ม www.farmafield.com ที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการผลิตของเกษตรกรได้ โดยเชื่อมต่อระหว่างผู้บริโภคและเกษตรกร ทำให้ผู้บริโภค (นักลงทุน) เป็นเจ้าของเกษตรกรรมด้วยตัวเองผ่านการลงทุนในกลุ่มเกษตรกรที่เลือก โดยนักลงทุนสามารถเลือกระดับการลงทุนได้ตั้งแต่ 5 ดอลลาร์ หรือไม่กี่ร้อยบาท และจะได้รับหุ้นและกำไรเป็นผลตอบแทน

นักลงทุนได้กำไรเกษตรกรได้ความมั่นคง
Brennan ยังได้ยกตัวอย่างการทำเกษตรกรรมในประเทศไลบีเรีย ที่มีการปลูกมันสำปะลัง โดยหลังจากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่ ก็พบว่า สิ่งที่สร้างความซับซ้อนให้กับการทำการเกษตรของชาวไลบีเรียคือ การไม่มีระบบสาธารณูปโภคและเงินทุนที่เพียงพอ ที่จะให้พวกเขาเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ๆ หรือทดลองปลูกพืชชนิดใหม่เข้าสู่ตลาดได้ ด้วยข้อจำกัดด้านสภาพอากาศที่รุนแรง และการเคลื่อนย้ายผลผลิตที่ยังต้องใช้จักรยาน ซึ่งแตกต่างจากเกษตรกรในอเมริกา ที่มีสาธารณูปโภคขนาดใหญ่สนับสนุนการทำเกษตรกรรม

“เราคิดว่าจะหาวิธีการอย่างไร ที่จะสามารถสร้างเสถียรภาพด้านรายรับให้กับเกษตรกรทั้งในอเมริกาและไลบีเรีย ขณะเดียวกันจะต้องไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของเกษตรกร แต่จะต้องลดความเสี่ยงและให้ความมั่นคงในการพัฒนาผลผลิต ซึ่งเราพบว่า ผู้บริโภคในอเมริกา เริ่มคิดถึงที่มาของผลิตภัณฑ์ที่เขาบริโภค และมีความคิดว่าเกษตรกรทำเกษตรกรรมด้วยวิธีไหนบ้าง ด้วยวิธีการนี้เอง จึงนำมาสู่วิธีการคิดที่จะให้ผู้บริโภคเชื่อมต่อเข้าสู่สายการผลิตโดยตรงผ่านกระบวนการทำงานร่วมกับชาวนา ในการเลี้ยงดูปศุสัตว์ การเพาะปลูก” Brennan กล่าว

ยกตัวอย่าง เช่น การให้ผู้บริโภคเข้ามาลงทุนและเป็นเจ้าของวัวเนื้อร่วมกับเกษตรกรที่เลี้ยงวัวเนื้อ โดยเกษตรกรจะเป็นผู้เลี้ยงดูสัตว์เหล่านี้ และคอยแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ผู้ลงทุนทราบว่า วัวเป็นอย่างไร และเมื่อขายสู่ตลาดแล้ว ผู้ลงทุนจะได้รับทุนคืนพร้อมทั้งผลกำไร

“เราเปลี่ยนวัวเป็นการลงทุนผ่านการทำสัญญาการผลิต นักลงทุนจะจ่ายเงินสำหรับเลี้ยงวัวให้กับเกษตรกร วิธีการดังกล่าว จะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนเลี้ยงวัวของเกษตรกร ทำให้เขาสามารถปรับตัวเข้ากับแหล่งเงินลงทุนใหม่ๆ ได้ ช่วยลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิต ซึ่งหากเราไม่ใช้วิธีการนี้เกษตรกรจะต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาในตลาดวัวเนื้อ และไม่สามารถลงทุนกับผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ได้ ดังนั้นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรรับเงินทุนจากภายนอก จะช่วยให้ฟาร์มเล็กๆ อย่างในไลบีเรีย สามารถมีรายรับที่มั่นคง และพัฒนาเกษตรกรรมของเขาขึ้นไปได้” Brennan กล่าว

พัฒนาแอพพลิเคชั่นรองรับสร้างสัมพันธ์กับเกษตรกรและชุมชน
ปัจจุบันมีนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนผ่านแพลตฟอร์ม www.farmafield.com แล้ว 20 ราย หลังจากที่เปิดตัวได้เพียง 2 สัปดาห์ ซึ่ง Brennan มองว่าในเฟสถัดไป นอกจากการเพิ่มจำนวนผู้ลงทุนแล้ว จะนำเงินทุนมาขยายสู่เกษตรกรให้กว้างยิ่งขึ้นทั้งในอเมริกาและไลบีเรีย พร้อมทั้งพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับ Android และ iOS ซึ่งหลังจากนี้จะต้องรอดูว่าแพลตฟอร์มของพวกเขาจะพัฒนาอย่างไรต่อไป

เกษตรกรกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ มีอายุมากกว่า 65 ปี พวกเขาค่อนข้างเรียนรู้การใช้งานแอพพลิเคชั่นได้ช้า เราจึงต้องก้าวข้ามอุปสรรคนี้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถสื่อสารกับเกษตรกรที่เป็นผู้สูงอายุได้

“นอกจากการนำเทคโนโลยีเข้าไปเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว มองว่าสิ่งสำคัญอีกประการคือ การสร้างความสัมพันธ์กับเกษตรกร และการทำงานในพื้นที่ชุมชน ในลักษณะพาร์ตเนอร์ พร้อมทั้งสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อให้เกษตรกรเกิดความเชื่อมั่น และเข้ามาร่วมเป็นส่วนสนับสนุนในการสร้างชุมชนและทีมกับเรา” Brennan กล่าว

ฉบับที่ 219 เดือนมีนาคม

ยุค IoT ของพลเมืองสูงวัย

 

ใช้ Blockchain ช่วยเกษตรกร แก้ปัญหาความยากจน
ด้านเกษตรกรไทย ที่ปัญหาความยากจนยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง โดยพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรกว่า 20 ล้านคน หรือคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยทั้งหมด ต้องเผชิญกับสภาวะขาดทุนต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งด้านการจัดการและเงินทุน จึงเกิดเป็นโครงการ Farmerhope จากทีมสานฝัน สตาร์ทอัพที่จะเป็นบริการตัวกลางระดมทุน ในรูปแบบ Social Business โดยเปิดรับเงินบริจาคผ่านระบบ Blockchain เพื่อนำไปจัดซื้อวัตถุดิบ อุปกรณ์การเกษตร รวมถึงการจัดอบรมให้ความรู้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้นและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยผู้บริจาคสามารถติดตามผ่านระบบได้ว่าเงินบริจาคของตัวเองถูกนำไปใช้ด้านใดบ้าง

ทีมสานฝัน ผู้ก่อตั้งโครงการ Farmerhope

เจนจิรา ธาราพันธ์ หัวหน้าทีมสานฝัน เล่าว่า มีตัวเลขพบว่า

คนไทยมีการบริจาคเงินสูงถึงปีละ 7 หมื่นล้านบาท แต่ผู้บริจาคกลับไม่สบายใจว่าเงินบริจาคไปถึงมือผู้รับจริงหรือไม่ ดังนั้นสานฝันจึงนำประโยชน์ของเทคโนโลยี Blockchain ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ เข้ามาช่วยเรื่องความปลอดภัยและความโปร่งใส

โดยข้อมูลทุกอย่างจะเป็นสาธารณะตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่ www.farmerhope.fund ผู้บริจาคเงินสามารถติดตามได้ว่า เงินของคุณนำไปช่วยเหลือชาวนากลุ่มไหน ในจังหวัดอะไร และนำไปใช้ทำอะไรบ้าง จนไปสู่ผลลัพธ์ด้านการทำรายได้ โดยผู้บริจาคจะเห็นเป็นกำไรสะสมอีกด้วย

“เราช่วยเหลือเกษตรกรผ่าน 2 แนวทาง โดยการนำเทคโนโลยีเข้าไปแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อให้ผู้บริจาคเห็นว่า เงินที่พวกเขาบริจาคนั้นเข้าถึงเกษตรกรจริง ไม่ใช่เป็นการให้เงินแล้วหมดไป แนวทางต่อมาคือ การนำเงินมาเป็นทุนให้กับคนเกษตรกรในลักษณะการยืมเป็นทุนพัฒนาความรู้ โดยเรามีการดูแลและผลักดันเกษตรกรอย่างใกล้ชิด โดยการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติ หรือผู้นำชุมชน เพื่อให้เกษตรกรสามารถสร้างกำไรได้อย่างแท้จริง และเมื่อพวกเขาทำกำไรได้ จะมีการคืนเงินเข้าสู่ระบบเพื่อหมุนเวียนไปช่วยเหลือคนอื่นต่อไป” เจนจิรา กล่าว

เจนจิรา ยังกล่าวอีกว่า ในฐานะที่ตนคุ้นเคยกับการทำเกษตรกรรม เชื่อว่า เกษตรกรไทยมีประสิทธิภาพที่สามารถพัฒนาคุณภาพการทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลิตผล การลดต้นทุน โดยเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว เชื่อว่ายังสามารถพัฒนาได้อีกมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องอาศัยการปรับวิธีการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น แต่เดิมการปลูกข้าวหนึ่งไร่จะต้องใช้ข้าวถึง 25 กิโลกรัม แต่ถ้าใช้เครื่องหยอดข้าวเข้ามาช่วย จะใช้ข้าวเพียงแค่ 8 กิโลกรัมต่อไร่ หากทำเช่นนี้แล้ว จะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน และมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงผลิตผลที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

ธนาคารกรุงเทพรับสมัครสตาร์ตอัพ เข้าโครงการ Bangkok Bank InnoHub Season 2

ธนาคารกรุงเทพร่วมกับบริษัท Nest ที่มากด้วยประสบการณ์ด้านสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทค ค้นหาธุรกิจสตาร์ทอัพ 5 กลุ่ม …