ถึงเวลาของ Apple Watch แล้วหรือยัง?

Apple Watch คือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดในรอบหลายปี มันเป็นทั้งสินค้าที่ออกมาจากบริษัทระดับโลกซึ่งขึ้นชื่อว่าพัฒนาผลงานได้อย่างเนี้ยบ ที่สุด มันเป็นทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่จากบริษัทหน้าเก่าที่เพิ่งสูญเสียผู้นำที่เคยกุมหางเสือมานาน และมันเป็นทั้งโปรดักส์ใหม่ล่าสุดที่ออกมาท้าทายพรมแดนใหม่ของโลกเทคโนโลยี ความเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะยอมรับมันหรือไม่ ถือเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง เพราะมันอาจหมายถึงอนาคตของโลกไอทีได้เลยทีเดียว

3

นี่ไม่ใช่บทความรีวิว Apple Watch แต่ผมจะกล่าวถึงความเป็นไปได้ในอนาคตที่ Apple Watch และนาฬิกาอัจฉริยะอื่นโดยรวม จะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้สัมผัส

นี่ไม่ใช่บทความรีวิว Apple Watch เพราะผมเชื่อว่าหลายท่านคงสามารถอ่านกันได้เยอะแยะจากอินเทอร์เน็ต แต่ผมจะกล่าวถึงความเป็นไปได้ในอนาคตที่ Apple Watch และนาฬิกาอัจฉริยะอื่นโดยรวม จะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้สัมผัส ซึ่งอาจเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกเทคโนโลยีไปได้ตลอดกาล

เสียงตอบรับของ Apple Watch
เช่นเดียวกับแกดเจ็ตอื่น Apple Watch ไม่ใช่สมาร์ทวอท์ซเรือนแรกที่ผู้บริโภคสามารถเป็นเจ้าของ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีผู้พัฒนาหลายรายสร้างสรรค์ผลงานออกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Sony, LG, Motorola หรือ Pebble ที่ประสบผลสำเร็จในการระดมทุนสร้างสมาร์ทวอท์ซในแบบที่พวกเขาอยากให้เป็น อย่างไรก็ดี เสียงตอบรับจากผู้บริโภคกลับไม่ค่อยดังนักและมักกระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะผู้ใช้งานเพียงกลุ่มหนึ่ง จึงเป็นไปได้ยากหากเราจะเป็นคุณป้าอากงหันมาสวมใส่นาฬิกาเหล่านี้แทนที่ Rolex หรือ Patek Philippe ที่พวกเขาคุ้นเคยมานาน

Apple Watch จึงได้รับการจับตามองว่าจะมาเปลี่ยนโฉมหน้าของนาฬิกาอัจฉริยะและเปลี่ยนใจผู้บริโภคให้หันมายอมรับมากขึ้น เช่นเดียวกับที่ iPhone และ iPad ทำให้คอมพิวเตอร์เป็นของกล้วยๆ สำหรับทุกคน อย่างไรก็ตาม ผลตอบรับเบื้องต้นกลับไม่ได้สร้างความหวือหวาหรือแรงกระเพื่อมมากเท่าใด นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ลงความเห็นตรงกันเกี่ยวกับงานออกแบบที่ทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม แม้แต่รุ่น Sport ซึ่งราคาประหยัดที่สุด ก็ยังใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียมชั้นดี มีน้ำหนักเบา และได้รับการเอาใจใส่ในรายละเอียด

นอกจากนี้ Apple Watch ได้ทำให้ความจำเป็นที่จะหยิบ iPhone ออกมาใช้น้อยลงกว่าที่เคย เพราะตอนนี้เราสามารถดูข้อความเข้าและแจ้งเตือนต่างๆ ได้เพียงชำเลืองมองที่ข้อมือ ลดการเสียเวลาและเป็นการรักษามารยาทขณะกำลังสนทนากับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ส่วน Taptic Engine ก็ได้รับการยกย่องว่าได้เปิดช่องทางการสนทนาใหม่ระหว่างผู้ใช้ Apple Watch ด้วยกันเอง โดยวิธีการสัมผัสเบาๆ หรือส่งจังหวะการเต้นของหัวใจ เป็นต้น

e199

ฉบับที่ 199 เดือนกรกฏาคม

YouTuber นักสร้างสรรค์โฆษณาดิจิตอล

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของมันมีอยู่สองสามจุดใหญ่ๆ โดยนักวิเคราะห์ต่างลงความเห็นว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจุดเด่นจริงๆ ของ Apple Watch (และสมาร์ทวอท์ซอื่น) คืออะไร? และมันจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอะไรในชีวิตประจำวันของเราได้บ้าง? ไม่เหมือนกับ iPhone และ iPad ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีการใช้เครื่องมือสื่อสารและคอมพิวเตอร์ของผู้บริโภค หรือพูดอีกอย่างก็คือ ผู้บริโภคยังไม่เห็นมีความจำเป็นที่จะต้องมีนาฬิกาอัจฉริยะไว้ในครอบครอง รวมทั้งนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ดูเหมือนว่าจะยังคงสับสนในการดึงจุดแข็งของแกดเจ็ตใหม่ออกมาใช้อย่างเต็มที่

เราจึงยังไม่เห็น Killer App หรือแอพฯ ที่ขาดไม่ได้สำหรับแพลตฟอร์มนั้นๆ (อย่างน้อยก็ในตอนนี้) ประเด็นถัดมาที่ Apple Watch ถูกวิจารณ์ก็คือ การใช้งานที่ซับซ้อนกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งต่างจากผลิตภัณฑ์อื่นของบริษัทที่เปิดกล่องออกมาแล้วใช้ได้ทันที แต่ Apple Watch ต้องการให้ผู้ใช้เข้าไปตั้งค่าต่างๆ มากมายก่อนเริ่มต้นใช้งาน หากไม่เช่นนั้นก็จะถูกถล่มด้วยรายการแจ้งเตือนจนข้อมือสั่นไปทั้งวัน ส่วนไอคอนก็มีเสียงบ่นว่ามีขนาดเล็กเกินจนใช้งานได้ลำบาก หน้าจอไม่เหมาะกับการใช้งานระบบสัมผัส เป็นต้น

อัจฉริยะก่อนเวลา?
คำวิจารณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ใช้งาน (หรืออาจจะ Apple เองด้วย) ยังคงมีความสับสนกับการใช้งานแกดเจ็ตชิ้นใหม่นี้อยู่บ้าง เพราะตลอดระยะเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมานั้น สมาร์ทโฟนกับแท็บเล็ตซึ่งเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ตลอดเวลา ได้ทำให้เราคุ้นชิ้นกับการใช้งานผ่านหน้าจอและการใช้นิ้วมือเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูป รับ-ส่งข้อความ เล่น Facebook หรือส่งสติ๊กเกอร์ใน Line แน่นอนว่า หากเรานำพฤติกรรมเหล่านั้นมาใช้กับคอมพิวเตอร์น้อยๆ บนข้อมือของเราก็คงพบกับความผิดหวัง เพราะมันมีขนาดจอที่เล็กกว่า ทำให้ควบคุมลำบากกว่า ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องการพิมพ์เพราะแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

4

หลายอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไป ยักษ์ใหญ่ของโลกไอทีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Google, Microsoft, Facebook, Intel และกระทั่ง Apple เองนั้น กำลังให้ความสำคัญกับรูปแบบของคอมพิวเตอร์ยุคหน้า

อย่างไรก็ตาม หากเรามองไปรอบๆ ภูมิทัศน์ของโลกเทคโนโลยีก็จะพบว่าหลายอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยจะเห็นได้ว่า ยักษ์ใหญ่ของโลกไอทีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Google, Microsoft, Facebook, Intel และกระทั่ง Apple เองนั้น กำลังให้ความสำคัญกับรูปแบบของคอมพิวเตอร์ยุคหน้า ยกตัวอย่างเช่น Internet of Things (IoT) ที่อุปกรณ์ของใช้ในชีวิตประจำวันจะได้รับการติดตั้งเซ็นเซอร์ขนาดเล็ก ทำให้สื่อสารถึงกันได้ผ่านช่องทางที่เราคุ้นเคยอย่างเครือข่ายไร้สายในบ้าน หรืออินเทอร์เน็ต จึงทำให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน หรือส่งสัญญาณแบบง่ายเพื่อกระตุ้นทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น เปิดไฟในห้องนอนโดยอัตโนมัติเมื่อเจ้าของเดินเข้ามา เป็นต้น

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ก็กำลังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายยิ่งกว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ Siri จาก Apple, Google Now และ Cortana จาก Microsoft ที่สามารถตอบคำถามผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็วจากการค้นข้อมูลบนโลกออนไลน์ ที่สำคัญคือ สามารถสั่งการได้ด้วยเสียง จึงน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นอย่างไร เมื่อ AI ได้รับการพัฒนาจนถึงขั้นสามารถคาดเดาและลงมือตอบคำถามก่อนที่ผู้ใช้จะถามเสียก่อน

นอกจากนี้ อินเทอร์เฟสใหม่อย่าง Virtual Reality (VR) หรือ Augmented Reality (AR) ก็ได้รับความสนใจในฐานะที่จะมาเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์เช่นกัน แว่น VR อย่าง Oculus Rift ทำให้ผู้ใช้ถูกย้ายเข้าไปสู่อีกโลกหนึ่ง ส่วน Microsoft Hololens ได้นำเสนอวิธีใหม่ของการมีปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ต่อผู้ใช้ ทั้งสองเทคโนโลยีไม่ต้องการให้เราพิมพ์ข้อมูลลงไป ไม่ต้องการเมาส์คลิก หรือสัมผัสหน้าจอใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ใช้เพียงสวมใส่อุปกรณ์และทุกอย่างก็เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง

นี่คือแนวคิดที่กำลังเป็นรูปเป็นร่างของคอมพิวเตอร์ในยุคถัดจากสมาร์ทโฟน ในยุคถัดไปคอมพิวเตอร์จะอยู่กับเราทุกที่ มันจะรู้ทุกอย่างที่เราต้องการ และสื่อสารกับเราผ่านอินเทอร์เฟสใหม่ (หรือไม่ต้องสื่อสารเลยก็ได้เพราะรู้ทุกอย่างอยู่แล้ว!?) ไม่แน่ว่า Apple Watch อาจจะเป็นก้าวเล็กๆ ที่กำลังนำเราไปสู่อนาคตที่ว่า เพราะมันมาพร้อมกับเซ็นเซอร์ขนาดเล็กที่สามารถเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi, Bluetooth, และ Near Field Communication (NFC) สำหรับใช้งานกับ Apple Pay นอกจากนี้เรายังสามารถสั่งการผ่าน Siri ได้ ตลอดจนทำให้เราหยิบใช้สมาร์ทโฟนน้อยครั้งกว่าที่เคย โดยเฉพาะยามที่เราเพียงต้องการดูข้อความสั้นๆ หรือแจ้งเตือนที่ส่งเข้ามา

นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่า Apple ยังมี HomeKit ที่ช่วยให้นักพัฒนาสร้างอุปกรณ์ภายในบ้านที่คุยกับอุปกรณ์อัจฉริยะรู้เรื่อง ทำให้เราสามารถปลดล็อกกลอนประตูโดยใช้ Apple Watch และ CarPlay ที่ให้เราควบคุมฟังก์ชั่นต่างๆ ของรถยนต์จากอุปกรณ์ดังกล่าว หากสมาร์ทโฟนกับแท็บเล็ตอาจเทอะทะเกินไปที่จะหยิบมาใช้งานลักษณะนั้น ก็ลองจินตนาการดูว่ามันจะสะดวกมากขนาดไหนหากเราจะสามารถสั่งการทุกอย่างได้จากข้อมือ?

สรุป
แม้ว่า Apple Watch อาจจะไม่ได้มีเสียงตอบรับที่น่าชื่นชมเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นของ Apple แต่ก็นับได้ว่ามันช่วยวางรากฐานสำคัญของการใช้งานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในยุคหน้า เมื่อเซ็นเซอร์เล็กๆ ช่วยให้อุปกรณ์ในบ้านหรือสำนักงานสื่อสารกันรู้เรื่อง AI อัจฉริยะที่รู้ความต้องการของเราทุกอย่าง และอินเทอร์เฟสใหม่ที่จะลบภาพการใช้งานคอมพิวเตอร์แบบเดิมๆ ไปอย่างสิ้นเชิง

บทความนี้ อาจไม่สามารถตอบคำถามว่า Apple Watch น่าซื้อหรือยัง แต่อย่างน้อยก็น่าจะช่วยให้เห็นภาพกว้างๆ ของความเป็นไปได้ใหม่ที่นาฬิกาอัจฉริยะทำให้เกิดขึ้นได้ เมื่อนั้นเราก็คงเห็นผู้คนใช้สมาร์ทวอท์ซกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันเหมือนกับสมาร์ทโฟนในวันนี้ครับ

Contributor

falcon

falcon_mach_v

สรนาถ รัตนโรจน์มงคล

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 48 และปริญญาโทจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รหัส 55 ปัจจุบันประกอบอาชีพที่ไม่เกี่ยวกับด้านไอที แต่ด้วยความชอบจึงได้มีงานเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เสมอ สามารถติดตามอ่านได้ที่ www.bitwiredblog.com และชมเว็บไซต์ผลงานภาพถ่ายได้ที่ http://iviewphoto.me

Facebook: sorranart

Website: ontechz.blogspot.com

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

App Store บังคับทุกแอพส่งนโยบายความเป็นส่วนตัว หลัง 3 ตุลานี้

แอปเปิลออกประกาศให้แอพใดก็ตามที่ส่งใหม่หรืออัพเดตหลัง 3 ตุลาคม 2018 นี้เป็นต้นไป จะต้องส่ง “นโยบายความเป็นส่วนตัว” …