มีอะไรใน คอมพิวเตอร์ ยุคหน้า

tech1-3
ในบทความที่แล้ว ผมได้พูดคุยถึง AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังเข้ามามีบทบาทต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของผู้บริโภคอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผ่านการแฝงตัวในแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์สื่อสารยุคใหม่ ทว่าตามจริงแล้วมันเป็นเพียงหนึ่งในหลายเทคโนโลยีที่จะมากำหนดความเป็นไปของโลกไอทีแห่งอนาคต บทความนี้จึงขอกล่าวถึงนวัตกรรมอื่น ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นผู้เล่นสำคัญของวงการ
tech1-1
ย้อนรอยวัฏจักรไอที
หากมองย้อนกลับไปในอดีตก็จะเห็นภาพว่า มีเทคโนโลยีสำคัญๆ เข้ามาพลิกโฉมหน้าวงการไอทีทุก 10 – 15 ปี โดยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกวงรอบคือ การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มและแอพพลิเคชั่น  กล่าวคือ ทุกครั้งที่เกิดแพลตฟอร์มใหม่ ก็จะมีแอพพลิเคชั่นหรือโปรแกรมได้รับการพัฒนาขึ้น ซึ่งก็จะไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแพลตฟอร์มนั้น สิ่งที่ตามมาคือ การยอมรับโดยผู้บริโภคทั่วไป และได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายจนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในวงกว้าง

ยกตัวอย่างเช่น การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์ม “คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล” ก่อให้เกิดแอพพลิเคชั่นอย่าง Word ซอฟต์แวร์สเปรดชีต และแอพพลิเคชั่นอื่นที่เข้ามาพลิกโฉมหน้าการทำงานทั้งในสำนักงานและที่บ้าน ยุคถัดมาคือ แพลตฟอร์ม “อินเทอร์เน็ต” ที่ก่อให้เกิดบริการค้นหาข้อมูลออนไลน์ เว็บบอร์ด อีเมล และธุรกิจอีคอมเมิร์ช เป็นต้น สร้างผลกระทบต่อการสื่อสารและการดำเนินธุรกิจอย่างที่เราทราบกันดี และปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคของแพลตฟอร์ม “โมบายล์” ที่ซึ่งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตก่อให้เกิดการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ และบริการด่วนทันใจ (On-demand) อาทิ Grab และ Uber

นอกจากนี้ หากเราวิเคราะห์ดีๆ ก็จะเห็นภาพว่า ในแต่ละวัฏจักรนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลาย่อย คือ 1) ช่วงบ่มเพาะ ที่ซึ่งแพลตฟอร์มใหม่ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง ผลิตภัณฑ์ยังมีความไม่สมบูรณ์แบบอยู่มาก และใช้งานยากสำหรับผู้บริโภคทั่วไป และ 2) ช่วงเติบโต ที่ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคเลือกสรรมากมาย ราคาถูกลง และใช้งานง่ายขึ้นมาก ส่งผลให้มีอัตราผู้ใช้งานสูงขึ้นมาก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในยุค “คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล” ก็คือ ในช่วงบ่มเพาะนั้น มีผลิตภัณฑ์จากหลายผู้ผลิตวางจำหน่ายในเวลาไล่เลี่ยกัน ไม่ว่าจะเป็น Apple II หรือ Altair ในช่วงทศวรรษ 1970 แต่ช่วงเติบโตนั้นเกิดขึ้นในต้นทศวรรษ 1980 เมื่อ IBM PC ออกวางจำหน่ายและได้รับความนิยมไปทั่วโลก ส่วนในยุค “อินเทอร์เน็ต” ช่วงบ่มเพาะเกิดในทศวรรษ 1980 – 1990 เมื่อบรรดาสถาบันวิจัยและหน่วยงานของรัฐคิดสร้างระบบที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ส่วนช่วงเติบโตนั้นเกิดขึ้นในเวลาต่อมาเมื่อแอพพลิเคชั่น “เว็บเบราว์เซอร์” ได้รับการพัฒนา ส่วนยุค “โมบายล์” ก็เห็นได้ชัดว่า ช่วงบ่มเพาะเกิดขึ้นในทศวรรษ 1990-2000 เมื่อฟีเจอร์โฟนเริ่มได้รับความนิยม และสมาร์ทโฟนในยุคเริ่มต้นอย่าง BlackBerry เริ่มวางจำหน่าย แต่ช่วงเติบโตนั้นเกิดขึ้นใน ค.ศ. 2007-2008 เมื่อ Apple เปิดตัว iPhone และ Google เปิดตัวระบบปฏิบัติการ Android อันส่งผลให้สมาร์ทโฟนถูกใช้งานอย่างแพร่หลายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปัจจุบันมีผู้ใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวกว่า 2 พันล้านราย และภายใน ค.ศ. 2020 ก็คาดว่าประชากรโลกกว่าร้อยละ 80 จะมีสมาร์ทโฟนอย่างน้อยคนละเครื่อง

ถ้าเราตั้งสมมติฐานว่า วัฏจักรดังกล่าวจะเกิดขึ้นซ้ำอีก คอมพิวเตอร์ยุคหน้าก็คงจะเข้าสู่ช่วงเติบโตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ และตอนนี้เราก็กำลังอยู่ในช่วงบ่มเพาะของมันอยู่ แต่จะเป็นเทคโนโลยีอะไรหรือนวัตกรรมไหนนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก เพราะขณะนี้มีแนวโน้มที่น่าสนใจเกิดขึ้นในแวดวงฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์มากมายที่ก่อให้เกิดความเป็นไปได้หลายทาง

tech1-4

วัฏจักรดังกล่าวจะเกิดขึ้นซ้ำอีก คอมพิวเตอร์ยุคหน้าก็คงจะเข้าสู่ช่วงเติบโตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ และตอนนี้เราก็กำลังอยู่ในช่วงบ่มเพาะของมันอยู่ แต่จะเป็นเทคโนโลยีอะไรหรือนวัตกรรมไหนนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก

ฮาร์ดแวร์ : ถูกลง เล็กลง และแพร่หลายมากขึ้น
คอมพิวเตอร์ได้รับการพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงอย่างต่อเนื่อง เครื่องเมนเฟรมได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายในองค์กรขนาดใหญ่ ขณะที่มินิคอมพิวเตอร์ในยุคถัดมาก็มีราคาถูกลงและได้รับความนิยมโดยองค์กรขนาดเล็ก ขณะที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและแล็ปท็อปก็ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในสำนักงานและตามบ้าน จนกระทั่งถึงยุคปัจจุบันที่สมาร์ทโฟนได้กลายมาเป็นคอมพิวเตอร์ติดกระเป๋าไปเป็นที่เรียบร้อย ส่วนในยุคหน้านั้นก็มีแนวโน้มว่าโปรเซสเซอร์และเซ็นเซอร์จะได้รับการพัฒนาให้เล็กลงไปอีก และสามารถผลิตได้ปริมาณมากในต้นทุนที่ถูกลง

มีสาเหตุสำคัญอยู่สองประการต่อข้อสมมติฐานดังกล่าว ประการแรกคือ กฎของมัวร์ ที่อธิบายถึงปริมาณทรานซิสเตอร์บนวงจรรวมที่จะเพิ่มปริมาณเป็นเท่าตัวทุกๆ สองปี ส่งผลให้ชิปมีประสิทธิภาพในการประมวลผลมากขึ้น และประการที่สองคือ การแข่งขันอย่างดุเดือดในตลาดสมาร์ทโฟนเป็นแรงผลักที่ก่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนาโปรเซสเซอร์และเซ็นเซอร์อย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะการพัฒนาชิปอเนกประสงค์ (Systems-on-a-Chip : SoC) ซึ่งประกอบด้วยซีพียูประหยัดพลังงาน ชิปประมวลผลกราฟิก วิดีโอ ฯลฯ ติดตั้งอยู่บนแผงวงจรเดียวกัน โดยนับวันชิปลักษณะดังกล่าวจะมีราคาถูกลงเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น Raspberry Pi Zero ซึ่งมีหน่วยประมวลผลความเร็ว 1GHz มีราคาเพียง 5 เหรียญสหรัฐ (ราว 175 บาท) เท่านั้น

e209_1

ฉบับที่ 209 เดือนพฤษภาคม

Digital Literacy เรื่องครอบครัว รู้ทันดิจิทัล

ซอฟต์แวร์ : ปัญญาประดิษฐ์ครองโลก

การเอาชนะเซียนโกะชาวเกาหลีใต้โดยปัญญาประดิษฐ์ DeepMind จาก Google กลายเป็นข่าวดังระดับโลก เพราะถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญของการพัฒนา AI เนื่องจาก โกะถือเป็นเกมที่ต้องใช้ “การหยั่งรู้” (Intuition) ในการเล่นและมีรูปแบบเกมเพลย์ที่เหนือชั้นและล้ำลึกยิ่งกว่าหมากรุกหลายเท่า

เทคโนโลยีที่มอบความเป็นไปได้ดังกล่าวคือ Deep Learning ซึ่งเป็นชุดคำสั่งที่ให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเองจากการเห็นภาพ คลิปวิดีโอ หรือได้ยินเสียง และสามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมากด้วยการจำลองเครือข่ายประสาทแบบเดียวกับในสมองของมนุษย์ ตัวอย่างของการนำนวัตกรรมนี้ไปประยุกต์ใช้กับของใกล้ตัวคือ ฟังก์ชั่นค้นหาใน Google Photos ที่สามารถค้นหาภาพได้อย่างชาญฉลาด เช่น หากต้องการค้นหาภาพแมวที่อยู่ในคลังภาพถ่ายของเรา ก็พิมพ์คำว่า cat ระบบก็จะรู้ว่าภาพไหนมีรูปแมวอยู่โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเสียเวลาติดป้ายคำเป็นตัวช่วยค้นหาก่อน

และเชื่อเหลือเกินว่าในอนาคตเราจะได้เห็นการนำปัญญาประดิษฐ์ไปประยุกต์ใช้กับสินค้าและบริการอื่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ช่วยดิจิทัล เอ็นจิ้นค้นหา แช็ทบ็อต การสแกนภาพสามมิติ การแปลภาษา รถยนต์ โดรน ฯลฯ เนื่องจากมีผลงานวิจัย ชุดข้อมูล และเครื่องมือซอฟต์แวร์มากมายที่เกี่ยวกับ Deep Learning ถูกปล่อยในรูปแบบโอเพนซอร์ส

tech1-2

เรากำลังอยู่ในช่วงการเติบโตของวัฏจักร “โมบายล์” และขณะเดียวกันก็กำลังเป็นสักขีพยานให้กับการตั้งไข่ของแพลตฟอร์มใหม่ที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของเราในอนาคต

ฮาร์ดแวร์ + ซอฟต์แวร์ = แพลตฟอร์มแห่งอนาคต
องค์ประกอบสองประการที่กล่าวไปก่อให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่จำนวนมากที่กำลังอยู่ในช่วงตั้งไข่ และคงจะเข้าสู่ช่วงเติบโตในเร็ววัน แม้ว่าแต่ละแพลตฟอร์มจะได้รับการออกแบบให้ตอบสนองความต้องการใช้งานที่แตกต่างกันไป แต่หากได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์แบบแล้วล่ะก็ พวกมันก็ล้วนสามารถเข้ามาเพิ่มศักยภาพในตัวของมนุษย์ได้เหมือนกันทั้งสิ้น

เริ่มจาก “รถยนต์” ที่บริษัทชั้นนำอย่าง Apple, Google, Uber และ Tesla ต่างลงทุนกับทรัพยากรมหาศาลในการพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ จึงเชื่อว่าในอีกไม่เกิน 5 ปี เราก็จะได้เห็นรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ และขณะเดียวกันเราอาจต้องปรับปรุงกฎระเบียบการจราจรและปรับทัศนคติการยอมรับของผู้ขับขี่ที่มีต่อยนตรกรรมไร้คนขับนี้เสียก่อน

“โดรน” ก็เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยรุ่นใหม่ๆ อย่าง DJI Phantom 4 ก็สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้เองแล้ว แน่นอนว่าเวอร์ชั่นที่จะตามออกมาย่อมต้องใช้งานได้ง่ายขึ้น และราคาถูกลง รวมทั้งมีหลายผู้ผลิตให้เลือกซื้อ ส่งผลให้การถ่ายภาพจากมุมสูงเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ รวมไปถึงการใช้โดรนประกอบการทำงาน เช่น การตรวจสอบสภาพตึกสูงที่เมื่อก่อนอาจต้องใช้คนปีนขึ้นไป หรือการสอดส่องพื้นที่ขนาดเล็กซึ่งการใช้แรงงานคนไม่สามารถทำได้สะดวก

“Internet of Things” ก็เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มแห่งอนาคตที่น่าจับตา เพราะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการพลังงานในบ้านด้วย Nest การดูแลรักษาความปลอดภัยด้วย Dropcam หรือการสั่งงานด้วยผ่านอุปกรณ์อย่าง Amazon Echo เป็นต้น แต่ความท้าทายประการหนึ่งของแพลตฟอร์มนี้คือ การขาดมาตรฐานกลางที่จะทำให้อุปกรณ์จากหลายผู้ผลิตสื่อสารกันรู้เรื่อง แต่หากสามารถขจัดให้หมดไปแล้ว มันคงเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราไปตลอดกาล

“Wearables” หรืออุปกรณ์สวมใส่ได้นั้นยังพบกับข้อจำกัดหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นอายุการใช้งานแบตเตอรี่ ความสามารถในการประมวลผล รวมไปถึงการนำไปใช้ประโยชน์ การใช้งานอุปกรณ์สวมใส่ได้ในปัจจุบันจึงยังจำกัดอยู่เฉพาะที่เกี่ยวกับสุขภาพและการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็น การนับจำนวนก้าวเดิน และปริมาณแคลอรี่ที่เผาผลาญ เป็นต้น แต่หากฮาร์ดแวร์ได้รับการพัฒนามากขึ้น ก็เชื่อว่าจะมีแอพพลิเคชั่นมากมายได้รับการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างเขี้ยวเล็บให้กับอุปกรณ์ขนาดเล็กนี้

“Virtual Reality” หรือโลกเสมือนคือนวัตกรรมที่ได้รับการพูดถึงมากในเวลานี้ เพราะมีอุปกรณ์ต่างๆ เริ่มส่งถึงมือผู้บริโภค แต่ก็เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มอื่นที่กำลังอยู่ในช่วงตั้งไข่ ต้นทุนการเป็นเจ้าของยังมีอยู่สูงมาก และยังคงใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้มากนักนอกจากเล่นเกมและรับชมความบันเทิง แต่เชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปและมีผู้ผลิตหลายรายเข้าสู่ตลาดมากขึ้น การแข่งขันที่เกิดขึ้นจะผลักดันให้ต้นทุนมีราคาต่ำลง ส่งผลให้มีผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นมากขึ้น ตามมาด้วยการยอมรับจากผู้บริโภค

สรุป
เห็นได้ว่า วัฏจักรคอมพิวเตอร์จะเกิดขึ้นในทุกๆ 10 – 15 ปี ซึ่งในแต่ละครั้งก็จะนำมาซึ่งนวัตกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วไป โดยขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วงการเติบโตของวัฏจักร “โมบายล์” และขณะเดียวกันก็กำลังเป็นสักขีพยานให้กับการตั้งไข่ของแพลตฟอร์มใหม่ที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของเราในอนาคต ถึงแม้เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าคืออะไร สิ่งที่แน่นอนคือ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์จะได้รับการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งครับ

Contributor

falcon

falcon_mach_v

สรนาถ รัตนโรจน์มงคล

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 48 และปริญญาโทจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รหัส 55 ปัจจุบันประกอบอาชีพที่ไม่เกี่ยวกับด้านไอที แต่ด้วยความชอบจึงได้มีงานเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เสมอ สามารถติดตามอ่านได้ที่ www.bitwiredblog.com และชมเว็บไซต์ผลงานภาพถ่ายได้ที่ http://iviewphoto.me

Facebook: sorranart

Website: ontechz.blogspot.com

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

future car
รถอัจฉริยะกับอุบัติเหตุ

รถอัจฉริยะของกูเกิล จะมีมนุษย์นั่งไปด้วยเพื่อเข้ามาควบคุมรถแทนในสถานการณ์ที่รถอัจฉริยะยังทำเองไม่ได้ ในบทความที่แล้วผมได้นำเสนอประเด็นเรื่องรูปแบบการจราจร และการใช้รถอัจฉริยะร่วมกับระบบขนส่งมวลชนไปแล้ว บทความนี้ ผมจะนำเสนอเรื่องของรถอัจฉริยะต่อในอีกมุมหนึ่ง นั่นคือ...

  • Mobile-2.0
  • CHATBOT
    ภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะเป็นภาษาสากลในอนาคต

    ว่าด้วยเรื่องของภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เมื่อกฎขึ้นมาในวงสนทนาเมื่อไร มักจะถูกคนทั่วไปมองหน้าเอาว่า นี่มันคือพวกเนิร์ด (Nerd) หรือกี๊ก (Geek) บ้าคอมฯ และพูดอะไรเข้าใจอยากแบบมนุษย์ต่างดาวแน่นอน ไม่ต้องแปลกใจครับ หลายคนมักเข้าใจว่าภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นเป็นภาษาที่คนทั่วไปไม่น่าจะเข้าใจได้ง่าย...

  • future-smart-car
    รถอัจฉริยะกับสังคมในอนาคต

    แท็กซี่ไร้คนขับ ที่มารับ-ส่งผู้โดยสารตามคำร้องขอผ่านแอพพลิเคชั่น รถอัจฉริยะหรือรถขับขี่อัตโนมัติ (Self-Driving Car) เป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจและผลักดันจากหลายฝ่าย ทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี การมาถึงของรถอัจฉริยะนั้นอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน...