ส่องนวัตกรรม 5 ด้าน ในงาน Bosch Innovation House ที่นำ IoTs เชื่อมต่อชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้น

บรรยากาศภายในงาน Bosch Innovation House 2017 จัดแสดง 5 ด้าน ได้แก่  Smart Home, Connected Mobility, Smart City, Connected Industry และ Smart Agriculture

อีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ทุกสิ่งล้วนทำงานได้เองอัตโนมัติคงไม่ใช่แค่เรื่องฝันอีกต่อไป เพราะเทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของมนุษย์ให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น เป็นการแก้จุดบอดบางอย่างที่เราไม่สามารถทำได้ และยังลดเวลาในการทำงานบางส่วนลง ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น โดยจะเชื่อมโยงอุปกรณ์หรือสิ่งของรอบๆ ตัวเราเข้ากับโครงข่ายการสื่อสารแบบอินเตอร์เน็ต

ต่อไปไม่ใช่เฉพาะโทรศัพท์มือถือเท่านั้นที่เราสามารถใช้สื่อสารหรือส่งข้อมูลให้กันและกันได้ หลอดไฟตามท้องถนนสามารถแจ้งถึงสถานะความชำรุดให้กับเมืองได้ รถยนต์สามารถสื่อสารกับสัญญาณไฟจราจรได้เพื่อบอกเส้นทางที่ต้องการเดินทาง หรือแม้แต่กระทั่งสายรัดข้อมือสามารถส่งข้อมูลสุขภาพของผู้ใส่ให้กับระบบวิเคราะห์ของโรงพยาบาลที่คอยติดตามผู้ป่วยได้

แนวคิดดังกล่าวนี้กำลังถูกใช้ขึ้นในบางเมืองในต่างประเทศแล้ว ถูกพัฒนาเป็น Smart City เกิดชุมชนเมืองที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัยและได้รับคุณภาพในการใช้ชีวิตที่สูง และมีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่น้อยที่สุด โดยทำการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเข้าด้วยกันแบบบูรณาการผ่านระบบ IT เพื่อให้การบริหารจัดการเมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการ บ๊อช ประเทศไทย

หากยังถึงภาพไม่ออกเรามีตัวอย่างเทคโนโลยีจากงาน Bosch Innovation House 2017 ที่จัดโดย บ๊อช ประเทศไทย มาแสดงเทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่อด้วยอินเทอร์เน็ตภายใต้แนวคิด “บ๊อช IoT: Totally Connected” ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญกับชีวิตคนมากขึ้น

นวัตกรรมทั้ง 5 ด้าน ทุกการเชื่อมต่อด้วย IoT

ทั้งนี้ บ๊อช ได้นำเสนอนวัตกรรมด้านโซลูชั่นส์ พร้อมสาธิตเทคโนโลยีการเชื่อมต่อด้วยอินเทอร์เน็ตที่สามารถเปลี่ยนกระบวนการทำงานแบบออฟไลน์ ไปสู่การเป็นผู้ช่วยทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ Smart Home, Connected Mobility, Smart City, Connected Industry และ Smart Agriculture

1.Smart Home เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ

เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอัจฉริยะต่างๆ จะสามารถควบคุมจากระยะไกลผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน แม้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชิ้นจะมาจากแบรนด์ที่ต่างกัน โดยบ๊อชได้ยกตัวอย่าง เช่น สามารถตรวจสอบสิ่งของภายในตู้เย็นได้แม้ขณะอยู่นอกบ้าน  ควบคุมการทำงานของเครื่องล้างจานได้ในระยะไกล เปิดการทำงานของเตาอบไฟฟ้าก่อนที่จะถึงบ้าน หรือ ‘สั่ง’ กาแฟคาปู-ชิโนเตรียมไว้รอล่วงหน้าก่อนถึงบ้าน

2.Connected Mobility ยานยนต์ที่เชื่อมต่อกัน

ในส่วนของโซลูชั่นด้านยานยนต์ บ๊อชได้โชว์การทดสอบการขับขี่อัตโนมัติบนถนนสาธารณะ โดยมีการทดสอบรวมกันแล้วหลายพันกิโลเมตร สามารถทดลองการขับขี่อัตโนมัติด้วยตัวเองผ่านแว่นตาพิเศษที่ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง (VR glasses) ได้ภายในงาน

นอกจากนี้ มีการนำเทคโนโลยีเสมือนจริงหรือเออาร์ (Augmented Reality) มาใช้ประโยชน์ในภาคธุรกิจยานยนต์ พร้อมแพลตฟอร์มสำหรับการทำเทคโนโลยีเสมือนจริงสำหรับภาคอุตสาหกรรมขึ้นมา ซึ่งช่วยให้ช่างเทคนิคได้เห็นตำแหน่งของส่วนประกอบต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ หรือสายเคเบิลที่ขดอยู่ภายใต้แผงหน้าปัดบนเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตได้

3.Smart City เมืองอัจฉริยะ

สำหรับเมืองอัจฉริยะ บ๊อชเสนอโซลูชั่นส์การรักษาความปลอดภัย และการบริหารจัดการเมืองด้วยระบบดิจิทัล เช่น ระบบการตรวจ NILM สามารถวัดแรงดันกระแสไฟฟ้า การใช้พลังงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าแต่ละชิ้น และสามารถวัดการทำงานของอุปกรณ์เหล่านี้ในช่วงเวลาต่างๆ ได้ และยังช่วยค้นหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้อีกด้วย

4.Connected Industry การเชื่อมต่อสำหรับอุตสาหกรรม

ภาคอุตสาหกรรมถือว่าเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญ ที่จะเข้ามาช่วยให้มนุษย์และเครื่องจักรสามารถทำงานร่วมกันอย่างปลอดภัยและคล่องตัว โดยมีซอฟต์แวร์ที่ช่วยตรวจจับความคลาดเคลื่อนต่างๆ เพื่อให้ได้คุณภาพ ผลิตภาพ และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

5.Smart Agriculture ควบคุมการทำเกษตร

ส่วนสุดท้ายที่ทางบ๊อชได้นำเสนอ เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในเรื่องของการทำเกษตร ช่วยให้มีประสิทธิภาพสูง ด้วยการนำเซ็นเซอร์และโซลูชั่นส์ต่างๆ มาให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบความชื้นและอุณหภูมิของดิน นอกจากนี้ ยังช่วยติดตามการเติบโตและพัฒนาการต่างๆ ของพืชผลได้อีกด้วย

ในปี 2563 ทุกอุปกรณ์จะเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต

โดยรวมแล้ว งาน Bosch Innovation House แสดงให้เห็นว่า IoT เพิ่มความสะดวกสบาย ประสิทธิภาพในการดำรงชีวิต โดยพ่วงเข้ากับการใช้ application บนโทรศัพท์มือถือ ทั้งในระบบในรถยนต์ หรือ การให้บริการด้านต่างๆ ที่หลากหลายขึ้น

ทั้งนี้ บ๊อชคาดการณ์ว่า ภายในปี 2563 ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ จะสามารถเชื่อมต่อกันด้วยอินเทอร์เน็ต โดยปัจจุบันอุปกรณ์ทั้งหมดที่บ๊อชผลิตขึ้น ราว 50 % สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้แล้ว นับเป็นการพลิกโฉมครั้งสำคัญที่มีผู้ได้รับประโยชน์มากมายจากโซลูชั่นส์ด้าน IoT ที่เชื่อมต่อผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นแวดวงธุรกิจต่างๆ และผู้บริโภค

ถึงคราวที่ต้องหันกับมามองภาพประเทศไทยดูบ้างว่า ภาครัฐจะเล็งเห็นถึงโอกาสดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน ในการสร้าง Smart City อย่างเต็มรูปแบบ สุดท้ายแล้วประชาชนก็ต้องมีการปรับตัวและประเมินประโยชน์ที่แท้จริงจากเทคโนโลยีกระแสใหม่เหล่านี้เพื่อให้ตนเองกลายเป็น Smart User ที่ดีด้วย

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts